top of page

SKYACTIV-CHASSIS ช่วงล่างสกายแอคทีฟ

รถหนัก...กินน้ำมันกว่า
รถที่เบากว่า...ปลอดภัยกว่าและไปได้เร็วกว่า

มีความจริงที่ใครหลายคนไม่เคยรู้...การที่รถกินน้ำมัน สาเหตุใหญ่มาจากน้ำหนักของตัวรถเอง เหมือนคนอ้วนที่เหนื่อยง่ายและอืดอาดเมื่อต้องวิ่ง เพราะคนอ้วนต้องใช้พลังงานมากกว่าในการที่จะพาน้ำหนักมหาศาลให้เคลื่อนที่ไปได้เร็ว ความเชื่อเดิมๆ ถูกท้าทายและพิสูจน์แล้วด้วยหลักวิทยาศาสตร์ ตัวถังน้ำหนักเบากลายเป็นวิทยาการที่เข้ามาแทนที่ตัวถังที่หนักเทอะทะ

เทคโนโลยีช่วงล่างและระบบบังคับเลี้ยวเจนเนอเรชั่นใหม่ SKYACTIV-CHASSIS คือ 1 ใน 5 นวัตกรรมใหม่ของรถจากเทคโนโลยีสกายแอคทีฟของมาสด้า

ทั้งแข็งแรงทั้งปลอดภัย และไปได้เร็ว เพราะ...

  • น้ำหนักของแชสซีลดลงถึง 14%* เสริมความแข็งแกร่ง เป็นหนึ่งเดียว เพื่อความคล่องตัวและการควบคุมที่ดีในทุกช่วงความเร็ว

  • ระบบบังคับเลี้ยวเจนเนอเรชั่นใหม่ ผ่อนแรงด้วยพลังงานไฟฟ้า ช่วยให้การควบคุมได้ดั่งใจ ปลอดภัย

  • ระบบรองรับการสะเทือนใหม่เพื่อคุณภาพห้องโดยสารขั้นสูง ระบบรองรับการสะเทือนด้านหลัง ปรับทิศทางการเคลื่อนที่ของ Trailing Link ให้ดูดซับแรงสะเทือนได้ดีขึ้น และลดการยกตัวที่ส่วนท้ายของรถ ช่วยลดอาการเมารถ

บริการอื่นๆ

* เทียบกับแชสซีปัจจุบัน

สกายแอคทีฟ-แชสซี เมื่อคุณกับรถเป็นหนึ่งเดียว

มาสด้าออกแบบระบบช่วงล่างและระบบบังคับเลี้ยวใหม่ ให้คุณควบคุมรถได้อย่างคล่องแคล่ว การตอบสนองเป็นธรรมชาติมากขึ้น เพิ่มความสบายในการขับขี่ และเสถียรภาพในการทรงตัวของรถได้อย่างเหนือชั้น “สกายแอคทีฟ-แชสซี (SKYACTIV-CHASSIS)” ยังคงไว้ซึ่งความแข็งแกร่งที่เหนือกว่าจากการใช้เหล็กกล้าคุณภาพสูงแต่น้ำหนักเบา โดยลดน้ำหนักส่วนเกินของโครงสร้างช่วงล่างลง 14%* คนขับจะรู้สึกถึงความเป็นหนึ่งเดียวกับรถ

 

* เทียบกับแชสซีปัจจุบัน

จุดเด่น

  • “Jinba Ittai” ให้ความรู้สึกที่เหมือนกับ “ความเป็นหนึ่งเดียวระหว่างรถและผู้ขับขี่” ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการควบคุมรถของ MX-5 และช่วยเพิ่มความสบายในการขับขี่

  • คุณภาพในการขับขี่ที่ดีขึ้นตลอดช่วงความเร็วรอบใช้งาน (ความคล่องแคล่วในช่วงรอบต่ำถึงปานกลางและความมีเสถียรภาพที่รอบสูง) เนื่องด้วยการออกแบบทางวิศวกรรมใหม่ที่สมบูรณ์ของการวางระบบรองรับด้านหลัง ตำแหน่งของเทรลลิ่งอาร์ม ส่วนประกอบของระบบบังคับเลี้ยวและการตั้งค่าการขับขี่จากทุกองค์ประกอบ

  • ความแข็งแกร่งที่เหนือกว่า จากน้ำหนักของแชสซีที่ลดลง 14% เนื่องมาจากระบบรองรับที่พัฒนาขึ้นใหม่ ได้แก่ สตรัทด้านหน้า และช่วงล่างหลังแบบมัลติลิงค์

วิศวกรรมน้ำหนักเบา: ความเชี่ยวชาญของมาสด้า

มาสด้าให้ความสำคัญในเรื่องน้ำหนักอย่างมาก ตามหลักกลศาสตร์ที่ปลอดภัยแล้ว รถยนต์ที่มีน้ำหนักเบากว่าจะให้ประสิทธิภาพและความสนุกในการขับขี่มากกว่า ใช้ปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงน้อยกว่า และปลอดภัยกว่าเมื่อลดความเร็ว น้ำหนักของรถที่เบากว่านั้นเป็นผลดีต่อสมรรถนะของรถยนต์โดยรวม ไม่ว่าจะเป็นอัตราเร่ง การบังคับรถ หรือการเบรก ในทางกลับกัน หากรถมีโครงสร้างที่น้ำหนักมาก ยิ่งหนักเทอะทะ และยิ่งต้องการเครื่องยนต์ที่หนักเพียงพอที่จะพารถนั้นไปได้ ที่สำคัญต้องการถังเก็บน้ำมันขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในปริมาณที่มากขึ้น

หากมองรถโรดสเตอร์ยอดขายอันดับหนึ่งของโลกของมาสด้า อย่างเช่น MAZDA MX-5 แล้วจะเห็นถึงความคล่องแคล่วและสมรรถนะที่อยู่คู่กัน และจะเห็นถึงการพัฒนายนตรกรรมที่ได้เปลี่ยนยุคไปแล้ว น้ำหนักตัวรถที่เบากว่า ให้ความเพลิดเพลินในการขับขี่ดีกว่า ควบคุมรถดีกว่า บังคับเลี้ยวได้อย่างกระฉับกระเฉง การวางสมดุลหน้า-หลังทำได้อย่างสมบูรณ์ และจุดศูนย์กลางมวลต่ำที่ช่วยรักษาเสถียรภาพของรถเมื่อใช้ความเร็วสูง ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นข้อได้เปรียบที่ได้จากรถที่น้ำหนักเบากว่า

 

อีกตัวอย่างของวิศวกรรมน้ำหนักเบาที่มีชื่อเสียงของมาสด้า คือ มาสด้า2 รุ่นที่สอง ที่เริ่มจำหน่ายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 โครงสร้างตัวรถมีน้ำหนักเบากว่ารุ่นแรกถึง 100 กิโลกรัม เป็นรถที่อยู่ในกลุ่มบีคาร์ที่มีแนวโน้มพัฒนาไปทางรถขนาดใหญ่ขึ้นและหนักมากขึ้น มาสด้า2 นี้ได้ถูกออกแบบให้ได้ความประหยัดน้ำมันยิ่งขึ้นขณะที่มีความปลอดภัยสูงขึ้น

วิธีการที่ไม่เหมือนใครในช่วยลดค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ใช้รถ

แนวทางที่ไม่เหมือนใครนี้เป็นหัวใจของการพัฒนาเทคโนโลยีสกายแอคทีฟของมาสด้า เริ่มตั้งแต่การพัฒนาเครื่องยนต์สกายแอคทีฟ ต่อเนื่องมาจนถึงโครงสร้างตัวถังสกายแอคทีฟและช่วงล่างสกายแอคทีฟ แทนที่จะจำกัดความคิดจดจ่ออยู่กับเพียงแค่เปลี่ยนการใช้วัสดุ จากประเภทหนึ่งไปสู่อีกประเภทหนึ่งที่ให้คุณภาพดีกว่าแต่ราคาก็แพงกว่า เช่น คาร์บอนไฟเบอร์ หรือ อลูมินัม เพราะนั่นเท่ากับเป็นการเพิ่มต้นทุนให้แก่ผู้ใช้รถ มาสด้าเลือกวิธีที่ไม่เหมือนใครโดยใช้วิศวกรรมน้ำหนักเบาช่วยลดค่าใช้จ่ายให้แก่ลูกค้า และรักษา "ความเป็นหนึ่งเดียวของรถกับผู้ขับ" ให้คงไว้ วิธีที่ว่านี้ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1) ใช้การออกแบบหาโครงสร้างตัวถังที่เหมาะสม 2) ใช้กระบวนการผลิตแบบใหม่ 3) ใช้วัสดุอื่นทดแทนเพื่อรักษาน้ำหนักของรถยนต์ให้เบากว่า แข็งแรงกว่า และปลอดภัย

ผลลัพธ์คือ โครงสร้างตัวถังสกายแอคทีฟใหม่มีน้ำหนักเบาขึ้นถึง 8% เมื่อเทียบกับตัวถังรุ่นก่อน ในขณะที่ช่วงล่างสกายแอคทีฟมีน้ำหนักเบาขึ้นอีก 14% มาสด้าตั้งเป้าพัฒนารถรุ่นใหม่ให้เบากว่ารุ่นก่อนหน้าถึง 100 กิโลกรัม วิศวกรรมน้ำหนักเบายังส่งผลดีกับส่วนอื่นของเทคโนโลยีสกายแอคทีฟด้วย เช่น ช่วยเพิ่มสมรรถนะของเครื่องยนต์สกายแอคทีฟ

ช่วงล่างและระบบบังคับเลี้ยวสกายแอคทีฟ SKYACTIV-CHASSIS

เช่นเดียวกับนวัตกรรมอื่นของเทคโนโลยีสกายแอคทีฟ ทีมพัฒนาช่วงล่างของมาสด้าต้องเผชิญกับเป้าหมาย 3 อย่างที่ขัดแย้งกันในตัวเอง หนึ่ง ให้ผู้ขับยังคงรู้สึกได้ถึงความกระฉับกระเฉงและความเป็นหนึ่งเดียวกับรถ สอง ให้ผู้ขับมั่นใจมั่นใจในเสถียรภาพของรถแม้จะขับด้วยความเร็วสูง และสาม มอบความสบายในการขับขี่ให้มากที่สุด โดยทั่วไปแล้ว การเพิ่มความว่องไวในการบังคับเลี้ยวที่ความเร็วต่ำถึงปานกลางสามารถส่งผลเสียต่อการควบคุมรถและเสถียรภาพของรถที่ความเร็วสูง แต่การตอบสนองอย่างว่องไวกระฉับกระเฉงก็สามารถอยู่ด้วยกันได้กับความสบายในการขับขี่ คำตอบสุดท้ายคือ ทีมพัฒนาต้องหาทางลดน้ำหนักของช่วงล่างและระบบบังคับเลี้ยว ในที่สุดวิศวกรของมาสด้าก็สามารถบรรลุเป้าหมายทั้งหมดเมื่อพวกเขาพัฒนาช่วงล่างและระบบบังคับเลี้ยวสกายแอคทีฟ

การจัดการกับความคล่องตัวรถที่ความเร็วต่ำ-ปานกลางกับเสถียรภาพที่ความเร็วสูง

ความท้าทายแรกคือ ต้องได้ช่วงล่างที่ให้เสถียรภาพการขับขี่ที่ความเร็วสูง และช่วยควบคุมรถอย่างแม่นยำที่ความเร็วต่ำถึงปานกลาง เพื่อให้สองคุณสมบัตินี้อยู่ด้วยกันได้ มาสด้าจึงพัฒนาระบบพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้าใหม่ขึ้นมาให้สามารถขับขี่ด้วยการตอบสนองทันทีทันใดแม้รถใช้ความเร็วต่ำมาก ขณะเดียวกันก็ให้ความคล่องแคล่วและไม่ให้การตอบสนองที่มากเกินไปเมื่อรถใช้ความเร็วสูง ความท้าทายนี้ทำให้ทีมวิศวกรตรวจสอบหลักเรขาคณิตของระบบกันสะเทือนหลังอีกครั้ง เพื่อหาจุดเชื่อมโยงหรือจุด "Link" ของระบบรองรับการสะเทือนที่เหมาะสมที่สุด และเพิ่มการจับยึดล้อหลังเพื่อลดการโยนตัวของรถขณะเลี้ยว (yaw gain) ในขณะเดียวกันให้อัตราทดเกียร์พวงมาลัยต่ำลงเพื่อให้ง่ายในการเลี้ยวและเลี้ยวได้เร็วขึ้น เพื่อยังความคล่องแคล่วของพวงมาลัยที่ความเร็วต่ำ ท้ายที่สุดลูกค้าจึงได้รถยนต์จึงมีทั้งความคล่องตัว และความมีเสถียรภาพให้เขารู้สึกขับสบายขับสนุกในทุกช่วงความเร็ว

ความรู้สึกที่มั่นคงขณะเลี้ยวรถด้วยความเร็วสูงเกิดขึ้นได้กับระบบบังคับเลี้ยวสกายแอคทีฟ โดยการเพิ่มมุมคาสเตอร์ (Caster) และระยะในแนวราบของมุมคาสเตอร์ที่ล้อหน้า เป็นการเพิ่มแรงบิดเพื่อให้ล้อหมุนกลับมาตรงแนวเดิมหลังหมุนพวงมาลัย จึงใช้พวงมาลัยเพาเวอร์ช่วยที่ความเร็วต่ำให้ง่ายแก่การเลี้ยวและรู้สึกเบาขึ้น และเมื่อเพิ่มความเร็วรถขึ้นก็เพิ่มความรู้สึกควบคุมที่พวงมาลัยขึ้นด้วย รถมาสด้าเจนเนอเรชั่นใหม่จึงขับขี่นุ่มนวลและปลอดภัยสูง

การจัดการกับความคล่องตัวที่ความเร็วต่ำ-ปานกลางกับความสบายในห้องโดยสาร

ระบบรองรับการสะเทือนเป็นปัจจัยสำคัญในการควบคุมรถในฐานะที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างตัวถังกับล้อ วิธีการจัดวางและโครงสร้างของระบบรองรับการสะเทือนเป็นตัวบอกความแม่นยำเมื่อรถเลี้ยว และยังมีผลกระทบต่อความสบายในการขับขี่ ดังนั้น ความท้าทายเรื่องที่สองของทีมวิศวกรก็คือการหาสมดุลระหว่างสองเรื่องนี้

ระบบกันสะเทือนหลังเป็นปัจจัยสำคัญเมื่อต้องการให้เกิดสมดุลมากที่สุดระหว่างความคล่องตัวและความสบายในห้องโดยสาร เป้าหมายที่สำคัญคือ ปรับปรุงการควบคุมรถโดยปราศจากสปริงและช็อคแอพซอร์เบอร์

ประการแรกคือการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของตัวหน่วง จุดยึดได้ถูกติดตั้งในตำแหน่งที่ทำให้อัตราส่วนคานมีค่ามาก แรงที่ถูกหน่วงและความแข็งของยางรองด้านบนได้ถูกเสริมความแข็งแรง ลดการกระแทกซึ่งมีผลโดยตรงต่อความสบายในห้องโดยสาร ตำแหน่งยึดเทรลลิ่งลิ๊งค์ (Trailing link) ของระบบกันสะเทือนหลังได้ถูกยกให้สูงขึ้นเพื่อปรับให้ทิศการเคลื่อนที่ของเทรลลิ่งลิ๊งค์สามารถดูดซับแรงกระแทกจากพื้นถนนได้ดีขึ้น ผลที่ได้คือความสบายในห้องโดยสารที่เพิ่มขึ้น และขณะเดียวกันยังช่วยป้องกันการยกตัวที่ด้านท้ายรถพร้อมเพิ่มเสถียรภาพเมื่อเบรก โดยลดระยะการหยุดรถให้สั้นลง

การจัดการกับการลดน้ำหนักรถและเพิ่มความแข็งแรงให้มากขึ้น

น้ำหนักของแชสซีส์ลดลง 14% เมื่อเทียบกับรุ่นเดิมแต่กลับให้ความแข็งแรงมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม สิ่งนี้เป็นความคิดท้าทายเรื่องที่สามของทีมวิศวกรมาสด้า 

ทีมวิศวกรให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับชิ้นส่วนแนวขวางของแชสซีส์ (Chassis cross members) เพื่อไปถึงเป้าหมายของการลดน้ำหนักรถให้มาคู่กับความต้องการในการใช้งาน มาสด้าจึงใช้เทคโนโลยีซีเออี (Computer-Aided Engineering หรือ CAE) คือเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่นำมาใช้ในงานวิศวกรรมการออกแบบ ใช้ในการออกแบบโมเดลต้นแบบและเชื่อมต่อโครงสร้างของรถทั้งคันให้สามารถทำงานเสริมซึ่งกันและกันอย่างดีที่สุด 

ส่วนศูนย์กลางของด้านหน้ารถได้ถูกยืดออกและออกแบบให้ระยะเยื้องตามยาวของตำแหน่งยึดปีกนกล่างสั้นลง ขณะเดียวกันของส่วนด้านหลัง ระยะตามยาวของชิ้นส่วนแนวขวางได้ถูกยืดออกและระยะเยื้องแนวยาวของตำแหน่งยึดลิ๊งค์แนวขวางสั้นลง มีการนำเอาหน้าแปลนเชื่อมออกจากด้านหน้าและด้านหลังเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของส่วนที่ถูกเชื่อม การออกแบบของมาสด้าช่วยเพิ่มความเหนียวและยืดหยุ่นตัวของแชสซีส์ที่มีน้ำหนักเบาขึ้น

งหมดนี้ คือการมองและก้าวข้ามปัญหาอย่างชาญฉลาดของมาสด้า อันนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาองค์รวมของรถจนเกิดเทคโนโลยีสกายแอคทีฟขึ้นมาบนโลกใบนี้ เทคโนโลยีใหม่ของมาสด้าที่คงความสนุกของการขับขี่ ให้รถที่คล่องแคล่วมีเสถียรภาพ เพิ่มความปลอดภัยและความสบายในห้องโดยสาร

bottom of page